เจาะแนวคิด พิชิตความสำเร็จ ของ Sir Richard Branson เจ้าของ Virgin Group และอีกกว่า 400 บริษัท


Richard branson
4

ริชาร์ด แบรนสัน คนนี้มาแรง สัณชาตญาณบอก

ริชาร์ด แบรนสัน Serial Entrepreneur ชื่อดังของโลก ผู้ก่อตั้งกิจการดังๆ อย่าง Virgin Record, Virgin Airline และ อีกกว่า 400 บริษัททั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านค้าปลีก, ด้านดนตรี, ด้านสายการบิน, ด้านการเงิน, ด้านโทรศัพท์มือถือ หรือกระทั่งธุรกิจชวนทึ่งอย่างธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ ในชื่อแบรนด์  Virgin Galactic ทำให้ตอนนี้มูลค่าทรัพย์สินของเขามีมากถึง 4.9 พันล้านเหรียญ หรือราวๆ 171,000 ล้านบาท!

แต่ใครจะรู้ว่า ริชาร์ด แบรนสัน ไม่ได้เรียนจบระดับปริญญาอะไรมาเลย แต่เขาเลือกที่จะใช้สัญชาตญานของเขาเป็นเรดาร์บอกทาง และศึกษาด้วยตัวเองแบบสมดุล 2 ด้าน ซึ่งก็คือ By Book การเรียนรู้ศึกษาจากตำรา และ By Heart การเรียนจากเสียงของหัวใจและสัญชาตญาณของตัวเอง

สำหรับริชาร์ดนั้น ตัวเขาเองเป็นคนเลือกที่จะหยุดการเรียนต่อในสถาบันการศึกษา เขาจึงจบการศึกษาแค่ระดับมัธยมเท่านั้น แต่นั่นกลับไม่ใช่อุปสรรคใด ๆ ต่อความก้าวหน้าทางการงานของเขาเลยสักนิด เพราะต่อจากนั้นเขาก็หันมาจับจ้องกับการเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวด้วยวัยเพียง 16 ปี โดยเขาเริ่มต้นจากกิจการขนาดเล็ก ก่อน ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับนิตยสาร จนกระทั่งเขามองเห็นโอกาสจากธุรกิจงานดนตรี เขาจึงได้ตัดสินใจเปิดบริษัท Virgin Record ขึ้นมา แต่ก่อนที่เขาจะลงมือลุยงานกับบริษัทเพลงนั้น เขาต้องวิเคราะห์และผ่านการดูตลาดจนมั่นใจเสียก่อนว่าธุรกิจด้านงานดนตรีกำลังมาแน่ ๆ แล้วค่อยกระโดดลงไปเล่นกับมัน และเขาก็มักจะใช้หลักการเดียวกันนี้กับธุรกิจด้านอื่นๆ ของเขาเช่นกันด้วย

ถ้าจะมองหากฎเกณฑ์เป๊ะ ๆ ในการทำธุรกิจสร้างเงินจากเจ้าพ่อสุดเทพคนนี้ เห็นทีจะยากเพราะสำหรับเขา ไม่มีกรอบหรือกฎใดๆ แต่ถ้าจะให้พูดถึงหลักคิดในการสร้างธุรกิจสักอย่างของริชาร์ด ก็คงจะเป็นหลักเดียวกับของแบรนด์ Virgin ที่ว่า “ทำธุรกิจ...ต้องสนุก” ซึ่งแนวทางหลักของริชาร์ดมีเพียงแค่ 2 ข้อเท่านั้น ก็คือ (1) ต้องเป็นธุรกิจที่ผู้บริโภคกำลังโดนเอาเปรียบ หรือไม่ก็ไม่ค่อยได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้ให้บริการเดิม และ (2) ธุรกิจนั้น ๆ ต้องไม่มีการแข่งขันที่สูงเกินไป ถ้าริชาร์ดรู้ว่ามีกลุ่มตลาดไหนหรือธุรกิจใดที่เข้าข่าย 2 ข้อนี้ เขาก็จะเตรียมชักธงรบลงสู้ศึกสักตั้งทันที และถ้าเขาคิดจะลงไปท้าชนในสนามแข่งเมื่อไร เป้าหมายของ Virgin ก็คือ การขึ้นเป็นแชมป์ หรือ ผู้นำในกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ กลยุทธ์ที่ริชาร์ดจะเลือกใช้ก็คือ เขาจะทำในสิ่งที่กลุ่มธุรกิจนั้น ๆ ไม่ทำ ว่าง่ายๆ คือ ‘ฉีกทุกกติกา’ แล้วก็สร้างแบรนด์ของตัวเองในวิธีการนำเสนอที่สุดโต่งที่สุด



อย่างเมื่อครั้งที่เขาจะสร้างแบรนด์สายการบิน Virgin Atlantic นั้น เขาก็เริ่มจากการตั้งคำถามขึ้นมาว่า 
“ทำไมผู้โดยสารชั้นประหยัดถึงมักจะเบื่อหน่ายกับการเดินทางบนเครื่องบิน?” 
“ทำไมการเดินทางข้ามทวีปที่ต้องนั่งบนเครื่องนานกว่า 6 – 8 ชั่วโมง มีหนังฉายให้ดูกันแค่ 1-2 เรื่องเท่านั้น?”
“ทำไมอาหารที่มีให้บริการเสิร์ฟบนเครื่องบินถึงได้มีรสชาติไม่อร่อยเอาซะเลย”

และเพื่อที่จะกะเทาะเงื่อนของคำถามเหล่านี้ให้หมด Virgin Atlantic จึงเป็นสายการบินแรกและแห่งเดียวในโลกที่เน้นเรื่องความบันเทิงระหว่างการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร โดยในแต่ละเที่ยวบินของ Virgin Atlantic ผู้โดยสารสามารถเลือกสนุกไปกับการชมหนัง, เล่นเกมส์ หรือ ฟังเพลงจากช่องวิทยุที่มีมากถึง 45 ช่อง โดยแต่ละที่นั่งสามารถรับชมและเพลิดเพลินไปได้จากเก้าอี้ของตัวเองอีก ส่วนในเรื่องของอาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องนั้นก็มีมากถึง 4 เมนู หรือแม้แต่ผู้โดยสารที่เมื่อยล้ากับการเดินทางก็สามารถเรียกใช้บริการหมอนวดบนเที่ยวบินได้อีกด้วย เป็นอะไรที่ไม่เหมือนใครสุด ๆ สำหรับสมัยนี้บางคนอาจจะมองว่าก็ไม่น่าแปลกตรงไหนกับบริการแบบนี้ แต่ให้ลองนึกย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว นับเป็นจุดเปลี่ยนที่กระตุ้นอีกหนึ่งมาตรฐานของสายการบินเลยก็ว่าได้

มาถึงบทพิสูจน์ความสุดโต่งในโปรเจคล่าสุดของ Virgin ที่นำเสนอการทัวร์อวกาศกับ Virgin Galactic ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่ผ่าเหล่าผ่ากอมากๆ อีกครั้งของริชาร์ด แต่ก็กลับได้รับกระแสการพูดถึงกันมากทีเดียว โดยแต่ละทริปการทัวร์อวกาศจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมได้เพียง 6 ครั้ง และสิ่งที่พวกเขาจะได้รับก็คือประสบการณ์เช่นเดียวกับมนุษย์อวกาศ และได้มองลงมายังโลกด้วยตาของตัวเองว่าโลกที่เราอาศัยกันอยู่นั้น เป็นอย่างไรบ้าง นี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ริชาร์ดเลือกใช้สัญชาตญาณบอกอีกครั้ง 

4