เจาะแนวคิดพิชิตความสำเร็จของ Sundar Pichai
Sundar Pichai ซีอีโอคนใหม่ของบริษัทระดับโลก Google กลายเป็นที่จับตามองขึ้นมาทันทีว่า เหตุใดชายอินเดีย วัย 43 ปี คนนี้ถึงได้รับการเสนอให้ขึ้นมารับช่วงงานสำคัญๆอย่างการคุมบังเหียนกิจการต่อจาก Larry Page ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งชื่อดังของ Google
เรามาดูกันครับว่า เหตุใดที่ Larry Page และผู้บริหารคนอื่นๆถึงได้เชื่อใจชายหนุ่มคนนี้ เขามีจุดแข็งด้านไหนที่ทำให้ขึ้นบันไดมาบริหารบริษัทเทคโนโลยีอันดับต้นของโลก
ความสามารถในการสื่อสาร
ส่วนหนึ่งที่ Page ได้พูดถึง Sundar ไว้ในหน้าบล็อคของ Alphabet นั้น ทำให้ผู้คนรู้จักหนุ่มคนนี้มากขึ้น เขาเป็นนักพูด นักเจรจา สามารถอธิบายเรื่อง IT ที่ต้องใช้ศัพท์เทคนิคมากมายและยากต่อความเข้าใจ ให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย จุดแข็งนี้เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ Page สัมผัสได้จากการร่วมงานกับเขา บางครั้ง Page ยังรู้สึกด้วยว่า Sundar เป็นเหมือนโฆษกประจำตัวของเขา เพราะสามารถถ่ายทอดความนึกคิดและความต้องการของ Page ไปยังพนักงานระดับต่างๆ ของ Google ได้เป็นอย่างดี
วิสัยทัศน์
นอกจากอุปนิสัยในการทำงานที่เข้ากันได้ดีแล้ว Sundar ยังเป็นกำลังสำคัญในการจุดประกายกลยุทธ์ใหม่ๆ ให้กับ Google อีกด้วย เช่น Gmail, Google Drive, Google Map, Firefox, Desktop Search และ Gadget ต่างๆของ Google ซึ่งไฮไลท์ผลงานของเขาก็คือ Google Chrome บราวเซอร์ที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัท
Sundar นำเสนอไอเดีย Google Chrome เพราะเล็งเห็นความสำคัญที่ว่า สักวัน Internet Explorer น่าจะค่อยๆเบียด Google Toolbar ออกไป ดังนั้น Google จึงควรก้าวให้ไวด้วยการสร้างจุดแข็งและฐานกำลังของตัวเองผ่านบราวเซอร์ Google Chrome ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบริษัทในระยะยาวมากกว่า ไอเดียนี้โดนใจผู้บริหารอย่าง Page และ Brin ไปแบบเต็มๆ แต่กลับตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของ Eric Schmidt CEO ในตอนนั้น ด้วยเหตุผลจากมุมมองของ Eric ที่ว่าเป็นการลงทุนที่ยังไม่ตรงจุดและต้นทุนก็สูงมากเกินไป โปรเจค Chrome จึงไม่ได้รับการอนุมัติ อย่างไรก็ตามวันนี้ บทพิสูจน์ที่สะท้อนแนวคิดของ Sundar จากเม็ดเงินที่ทำรายได้ให้กับบริษัทจำนวนมหาศาลถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด
อัธยาศัยกับทีมงาน
นอกเหนือจากการเป็นนักพูด นักคิด และนักปฏิบัติแล้ว Sundar ยังได้รับฉายาจากคนในองค์กรว่าเป็น Mr. Nice Guy หรือ นายแสนดี ซึ่งก็มาจากบุคลิกส่วนตัวในการทำงานของเขาที่มักจะถ่อมตัว, ประนีประนอม, ไม่ชอบความขัดแย้ง และไม่หักหน้าใคร
อดีตเพื่อนร่วมงานของ Sundar ได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ในการทำงานกับ Sundar ว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งแผนกที่ดูแลเรื่องการพัฒนาระบบของ Android เลือกที่จะใช้บราวเซอร์ตัวอื่นที่ไม่ใช่ Google Chrome ในการใช้งานกับอุปกรณ์ของ Android ซึ่ง Sundar ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา Chrome ก็ไม่ได้ไปคัดค้านหรือต่อว่าอะไร มาวันนี้ Sundar ก็คือคนที่เข้ามารับช่วงดูแลและแก้ไขโปรเจคทั้ง 2 นี้ควบคู่กันไป
ภาวะผู้นำในการสร้างทีมให้เข้มแข็ง และไม่ส่งผลกระทบต่อทีมงานส่วนอื่นๆ จึงเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับความสำเร็จของผู้นำอย่าง Sundar ที่ทีมงานส่วนใหญ่ยกย่องให้เขาเป็น Best of the Best
Chris Beckman อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ได้กล่าวชื่นชมการทำงานในฐานะหัวหน้าของ Sundar ไว้ว่า เขามักจะคัดเลือกทีมงานเอง และส่วนใหญ่ก็จะลงมาสอนงานและให้คำแนะนำกับทีมงานเสมอ ที่สำคัญเขาไม่เคยปล่อยให้เกิดความขัดแย้งใดๆขึ้นในทีมหรือระหว่างทีมเลย
วิธีจัดการปัญหา - ทฤษฎีแมลงสาบ
บุคลิกสุขุม นุ่มนวลของ Sundar มาจากแนวคิดในการดำเนินชีวิตของเขา ที่ตัวเขาตั้งชื่อว่า “ทฤษฎีแมลงสาบ”
ให้เราลองจินตนาการว่าเรากำลังนั่งอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง จู่ๆก็มีแมลงสาบบินมาเกาะผู้หญิงคนหนึ่ง พอเธอรู้ว่าแมลงสาบเกาะที่ตัวเธอ เธอก็เริ่มร้อง กระโดดโลดเต้นไปมา และเริ่มใช้มือทั้งสองปัดตามตัว เพื่อให้เจ้าแมลงสาบบินออกไปจากตัวเธอ แต่แมลงสาบตัวนั้นกลับไม่ยอมบินออกไปจากตัวเธอ และแล้วแมลงสาบก็บินออกจากตัวเธอ ไปเกาะไหล่ผู้หญิงอีกคนบนโต๊ะเดียวกันแทน ผู้หญิงคนนั้นก็เริ่มกระโดดไปมาไม่ต่างจากผู้หญิงคนแรก ความวุ่นวายจึงมาเยือนคนทั้งโต๊ะทันที
เมื่อพนักงานเสิร์ฟอาหารเห็น จึงรีบเข้ามาหวังจะช่วยลดความวุ่นวาย เจ้าแมลงสาบก็บินเข้าหาเขาและเกาะที่ผ้ากันเปื้อน พนักงานเสิร์ฟคนนั้นไม่ได้สะบัดผ้าออก แต่กลับยืนนิ่งๆ และดูการเคลื่อนไหวของแมงสาบ พอจับจังหวะของมันได้เขาก็ค่อยๆคว้ามันแล้วเหวี่ยงออกไปนอกร้าน
คำถามของเรื่องนี้ก็คือ “แมลงสาบคือที่มาของความวุ่นวายหรือเปล่า ... ถ้าใช่ แล้วทำไมพนักงานเสิร์ฟถึงสามารถจัดการกับมันได้อย่างนิ่มนวล?”
Sundar กล่าวว่าแมลงสาบไม่ใช่ต้นตอของปัญหา แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ วิธีจัดการกับสิ่งที่มารบกวนเราต่างหาก ถ้าเรานำมาเปรียบกับเหตุการณ์ในชีวิต สิ่งที่ทำให้เราหัวเสียจนเต้นเร่าๆ ก็เป็นได้ทั้งเสียงบ่นจากหัวหน้า หรือคำพูดว่าร้ายของคนอื่น ฯลฯ ตัวเราเองเท่านั้นคือผู้กำหนดว่าจะรับมือกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ถ้าเราฉุนเฉียว โมโห รู้สึกแย่ นั่นก็มาจากเราเอง ถ้าเราเลือกที่แก้ไข มันก็มาจากเราเอง อยู่ที่เราจะเลือกแบบไหน
จากข้อคิดเรื่องแมลงสาบนี้ ทำให้ Sundar รู้ว่าเขาไม่ควรตระหนกกับปัญหา แต่ต้องเผชิญหน้าและแก้ปัญหาต่างหาก
นับว่าเป็นแนวคิดพิชิตความสำเร็จที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกเหตุการณ์ ไม่แปลกเลยที่ Sundar ถูกมอบความไว้วางใจจากทุกๆฝ่ายให้บริหารบริษัท Google ใครอยากประสบการณ์ความสำเร็จแบบ Sundar ลองเอาข้อดีของเขาไปใช้กันนะครับ