TED Sparks: มีเพื่อนชื่อ 'ความเครียด' ไม่เห็นจะเป็นอะไร


Bannerblog 18072018
1

ขอเกริ่นก่อนว่าคอลัมน์นี้ที่ชื่อว่า "TED Sparks" โดยคัดสรรการพูดดีๆ จากเวที TED Talks ทั่วโลก เพื่อ 'จุดประกาย' อะไรบางอย่างในตัวคุณ ทั้งด้านการพัฒนาตนเอง ด้านการใช้ชีวิต ทัศนคติ หรือแรงบันดาลใจต่างๆ เพราะยิ่งคุณถูกจุดประกายมากเท่าไหร่ คุณก็จะหาความหมายของชีวิตในแบบของตัวเองได้ไม่ยาก แล้วชีวิตคุณก็จะประสบความสำเร็จเพราะสิ่งที่คุณเรียนรู้นี่แหละครับ


อาทิตย์ก่อนผมมีโอกาสได้นั่งฟังหลายๆ การพูดในเวที TED Talks แล้วไปสะดุดกับวิดีโอหนึ่งที่ เคลลี่ แม็กกอนิกัล นักจิตวิทยาสุขภาพ (Kelly Mcgonigal - The Health Psychologist) ไปพูดที่เวที TED Talks ที่กรุงเอดินเบิร์ก ประเทศสก็อตแลนด์ เกี่ยวกับเรื่องจะทำอย่างไรให้เรามองว่าความเครียดเป็นเพื่อนของเรา (How to make stress your friend?)



ที่มาของภาพ How to make stress your friend, ttps://goo.gl/images/1FaWtQ

ผมเชื่อว่าอย่างไรแล้วทุกคนต้องเคยผ่านความเครียด ไม่ว่าจะเล็ก ใหญ่ หรือสาหัสกันมาแล้วทั้งนั้น อยู่ที่ว่าคุณมอง ‘ความเครียด’ อย่างไร? แล้วคุณจัดการกับความเครียดนั้นอย่างไร? ก่อนจะให้คำตอบนั้น ให้เก็บไว้ในใจแล้วลองมาดูกันว่าสิ่งที่คุณคิดนั้นตรงกับสิ่งที่เธอเล่าต่อไปนี้หรือเปล่า


“จากกรณีศึกษาภาวะความเครียดของคนอเมริกัน 30,000 คนตลอดระยะเวลา 8 ปี คุณรู้ไหมว่า 43% ของกลุ่มตัวอย่างเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แต่ความเครียดนั้นจะอันตรายแบบที่กลุ่มตัวอย่างนั้นคิดก็ต่อเมื่อเขาเชื่อว่าความเครียดนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณ”

จากกรณีศึกษานี้เคลลี่ได้เล่าต่อว่า กว่า 182,000 คนเสียชีวิตตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ศึกษาเรื่องนี้ไม่ได้มาจากสาเหตุความเครียด แต่มาจากว่าเขาเชื่อว่าความเครียดเป็นอันตรายจนส่งผลเสียต่อร่างกาย ในทางกลับกันคนที่มองว่าความเครียดนั้นไม่ได้อันตราย กลับมีโอกาสเสี่ยงต่อชีวิตต่ำที่สุด แม้จะเทียบกับคนที่มีความเครียดน้อยแล้วก็ตาม ถ้าเป็นพวกเราที่อ่านถึงเฉพาะตรงนี้คงงงเป็นไก่ตาแตกว่า สิ่งที่ฟังหรือเชื่อกันมานั้นมันไม่เป็นความจริงเหรอ ซึ่งมันก็ขัดกับสิ่งที่เธอต้องแนะนำกับคนไข้ของเธอว่าความเครียดเป็นสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน


“Can changing how you think about stress make you healthier? And here the science says yes. When you change your mind about stress, you can change your body’s response to stress”

ประโยคนี้เองกำลังจะบอกเราว่าแค่เปลี่ยนความคิดต่อความเครียด การตอบสนองต่อความเครียดของร่างกายก็จะเปลี่ยนไปด้วย สุขภาพคุณเองก็ไม่สุ่มเสียงต่ออันตรายแล้ว มากกว่านั้นวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับว่ามันเป็นจริง เป็นประโยคหนึ่งที่เธอได้จากงานวิจัยชิ้นต่อมาของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมทดสอบความเครียดทางสังคม (The Social Stress Test) จะได้รับการสอนก่อนเข้าร่วมการทดสอบว่า


1) ให้มองว่าหัวใจที่เต้นแรงช่วยให้คุณเตรียมพร้อม

2) หากเราหายใจเร็วขึ้นก็แสดงว่ามีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น

เมื่อผู้เข้าร่วมทดสอบเรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาก่อน เขาก็จะมีความกังวลใจน้อยลง เครียดน้อยลงเหมือนได้รับการเตรียมตัวมาก่อน แทนที่ปกติแล้วในทางกายภาพหลอดเลือดในหัวใจจะหดเล็กลง (ภาพหลอดเลือดด้านบน) หากเรามีความเครียดเกิดขึ้น ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อร่างกายแน่ๆ ทั้งความเครียดเรื้อรัง ไปจนถึงสาเหตุของโรคหัวใจ แต่ถ้าความคิดคุณเปลี่ยน เพียงเท่านี้เส้นเลือดหัวใจคุณจะขยายเหมือนกับตอนที่คุณมีความสุขและแสดงความกล้าหาญออกมาเลยทีเดียว (ภาพหลอดเลือดด้านล่าง)



ที่มาของภาพ ส่วนหนึ่งจากคลิปวิดีโอ How to make stress your friend, https://www.ted.com/talks/kelly_mcgonigal_how_to_make_stress_your_friend


จนผมมาสะดุดคำพูดหนึ่งของเธอประมาณว่า "ความเครียดทำให้เราเข้าสังคม" ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นลองอ่านกันต่อดูนะครับ


เคลลี่ได้พูดต่อถึงฮอร์โมนที่เราอาจะเคยได้ยินกันคือ ออกซิโทซิน (Oxytocin) จะหลั่งออกมาทุกครั้งที่เรากอดใครสักคนที่โดยทั่วไปเราเข้าใจว่ามันเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกผูกพัน อบอุ่น คลายกังวล แต่ในการพูดครั้งนี้มันคือ ‘ฮอร์โมนความเครียด’ สมองจะสั่งให้หลั่งออกมาให้คุณตอบสนองต่อความเครียด ที่หลั่งมากพอๆ กับฮอร์โมนอะดรีนะลีนตอนที่คุณหัวใจเต้นแรง อ็อกซิโทซินนี้เองเมื่อปล่อยออกมามันจะกระตุ้นให้คุณมองหากำลังใจ ให้คุณหาใครสักคนระบายความในใจออกมามากกว่าจะกดมันไว้ ทำให้เราแสดงปฏิกิริยาเหล่านี้ เพื่อให้ถูกรายล้อมไปด้วยคนที่ห่วงใย แล้วมันสำคัญอย่างไรกับหัวใจและร่างกายของเรา...


Your heart has receptors for this hormone, and Oxycontin helps heart cells regenerate and heal from any stress-induced damage. This stress hormone strengthens your heart.” สรุปอย่างง่ายคือ ฮอร์โมนนี้ทำให้หัวใจคุณแข็งแรงขึ้น!


        หนึ่งในบทบาทหลักของฮอร์โมนความเครียดนี้คือป้องกันระบบหัวใจและหลอดเลือดผ่อนคลายจากความเครียดต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจที่จะช่วยผลิตใหม่และรักษาเซลส์หัวใจที่เสียหายจากความเครียด มากไปกว่านั้น ประสิทธิภาพที่จะช่วยร่ายกายและหัวใจคุณเพิ่มมากขึ้นไปอีกถ้าเราพบปะหรือช่วยเหลือทางสังคม เพียงแค่เรายื่นมือไปช่วยคนอื่นหรือหากำลังใจตอนที่เรากำลังเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนนี้มากขึ้น


        ...ในที่สุดคุณก็จะรอดพ้นและพื้นฟูจากความเครียดได้เร็วขึ้น



        เห็นไหมครับว่าเราไม่จำเป็นต้องกลัวที่จะเผชิญกับความเครียดที่เป็นอยู่หรือกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต แค่ลองเริ่มต้นมองความเครียดเป็นเพื่อนของคุณที่เพิ่มพลังและเตรียมพร้อมคุณกับความท้าทายหรือบททดสอบที่เกิดขึ้น หรือคุณลองเข้าไปช่วยคนอื่นในยามที่เขาเกิดความเครียดนอกจากคุณจะช่วยเขาให้ดีขึ้นจากความเครียดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างกันก็ดีขึ้นไปด้วย


        Source 
        http://www.ted.com/talks/kelly_mcgonigal_how_to_make_stress_your_friend


        ติดตาม Ted Talks ดีๆ เรื่องอื่นๆ ได้ที่ https://www.ted.com/

        หรือคอลัมน์ "TED Sparks" ได้ทุกกลางเดือนนะครับ


        1