Flipped Classroom คืออะไร?
Flipped classroom เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ของห้องเรียน ซึ่งกำลังเป็นสื่งที่นักวิชาการทั่วโลกกำลังทดลองอยู่ว่าได้ผมหรือไม่ Flipped Classroom เป็นการผสมผสานกันระหว่าง e-learning และห้องเรียนจริง (online + offline) โดยคอนเซ็ปต์คล่าวๆของ Flipped Classroom คือ
(1) นักเรียนดูวิดีโอการสอนที่บ้านผ่านระบบออนไลน์หรือ smart device โดยนักเรียนสามารถเรียนตามความเร็วของตัวเอง และพูดคุยกับนักเรียนคนอื่น หรือถามคำถามคุณครู ผ่านระบบออนไลน์
(2) ห้องเรียนเปลี่ยนเป็นห้องกิจกรรม ที่นักเรียนสามารถถกเถียง แสดงความคิดเห็น ทำงานกลุ่ม ทำโจทย์ เล่นเกม ฯลฯ โดยคุณครูมีหน้าที่กำกับดูแลนักเรียน ตอบคำถาม และทำให้บทสนทนาหรือกิจกรรมต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่วางแผนไว้
Flipped Classroom มีประโยชน์อย่างไร?
Flipped classroom มีประโยชน์ทั้งกับคุณครูและนักเรียน อาทิ
(1) คุณครูไม่จำเป็นต้องสอนเรื่องเดิมซ้ำไปซำ้มา ทำให้สามารถประหยัดเวลาในการเตรียมตัวและการสอนอย่างมหาศาล
(2) คุณครูมีเวลากับนักเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากครูใช้เวลาบนหน้ากระดานน้อยลง ครูจึงมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนมากขึ้น อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์ที่เข้าใจยาก หรือแม้กระทั่งช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล
(3) นักเรียนสามารถเรียนตามความเร็วของตัวเอง เพราะเรียนผ่านวิดีโอ นักเรียนจึงสามารถถอยหลัง หรือดูซ้ำบทเรียนที่ไม่เข้าใจได้ นักเรียนสามารถใช้เวลาได้เต็มที่ ตามที่เขาต้องการ
(4) เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน แทนที่จะได้รับความรู้แหล่งเดียวจากคุณครูแบบสมัยก่อน นักเรียนสามารถเรียนรู้จากนักเรียนคนอื่นๆได้ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน
Flipped Classroom ได้ผลหรือไม่?
คำตอบ ณ ตอนนี้คือ ได้! มีผลวิจัยออกมาแล้ว ซึ่งจัดทำโดย Jeremy F. Strayer, Ohio State University เขาค้นพบว่า1
ก่อนที่จะใช้ Flipped Classroom
- นักเรียน 50% สอบตกวิชาภาษาอังกฤษ
- นักเรียน 44% สอบตกวิชาเลข
หลังจากใช้ Flipped Classroom
- นักเรียน 19% สอบตกวิชาภาษาอังกฤษ
- นักเรียน 13% สอบตกวิชาเลข
นี่เป็นเพียงหนึ่งวิจัยเท่านั้น ในอนาคตเมื่อ Flipped Classroom ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เราคงได้เห็นผลกระทบของการใช้ Flipped Classroom มากขึ้น
ประสบการณ์ตรง
สมัยที่ผมเรียน MBA อยู่ที่ Kellogg School of Management ผมได้รับประสบการณ์ Flipped Classroom โดยตรง อย่างที่ทุกคนคงทราบกันดี การเรียน MBA ในอเมริกา จะไม่เน้นทฤษฎีอย่างเดียว โดยเฉพาะที่ Kellogg การเรียนส่วนมากนั้นจะเน้นการทำ case study และงานกลุ่มกับเพื่อนร่วมห้องที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก
ครั้งหนึ่งในวิชา Business Strategy อาจารย์สั่งให้นักเรียนทุกคนทำการบ้าน โดยการดูวิดีโออันหนึ่ง พร้อมกับให้เตรียมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิดีโอดังหล่าวในคลาสหน้า เมื่อคลาสหน้ามาถึง อาจารย์ก็ทำการเปิดเวทีให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิดีโอดังกล่าว ผมได้เตรียมความคิดเห็นส่วนตัวไว้แล้ว และก็แอบมีความมั่นใจเกี่ยวกับความคิดเห็นของตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เมื่ออาจารย์เปิดเวทีขึ้นมา ผมได้รู้ว่ามีหลายคนที่คิดเหมือนผม แต่ก็มีอีกหลายคนที่คิดต่าง นักเรียนถกเถียงกันอย่างสนุกสนาน เสนอความคิดของตัวเองอย่างเต็มที่ จนทำให้ผมเข้าใจถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากผู้อื่น การได้สนทนาร่วมกับนักเรียนคนอื่น ทำให้ผมเห็นความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่น และทำให้ผมสามารถคิดรอบด้านมากขึ้น ส่วนอาจารย์นั้น แทนที่จะต้องเสียเวลาในห้องเรียนเพื่อสอนทฤษฎีที่สามารถสอนได้ด้วยวิดีโอ อาจารย์มีหน้าที่คอยกำกับบทสนทนาของผู้เรียน ตอบคำถามที่มี และพยายามทำให้ทุกคนมีโอกาสเสนอความคิดของตัวเอง
สรุป
Flipped Classroom เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ที่เหล่านักวิชาการเริ่มให้การสนใจ มันเป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีและการศึกษา เพื่อทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถึงแม้ว่าตอนนี้ เรายังไม่อาจตอบได้เต็มปากว่า Flipped Classroom นั้นได้ผล แต่หลายๆโรงเรียนทั่วโลกเริ่มที่จะทดลองใช้คอนเซ็ปต์นี้กับห้องเรียนของตน ในอนาคตอันใกล้ เราคงได้เห็นจริงๆว่า Flipped Classroom นั้นมีผลลัพท์ที่ดีหรือไม่
หากโรงเรียนไหนอยากทดลองใช้ Flipped Classroom วิธีการนั้นไม่ยากเลย เพียงเราหาสื่อการเรียนรู้ที่ฟรีเช่น Khan Academy หรือแม้กระทั่งวิดีโอบน Youtube และสั่งนักเรียนให้ดูวิดีโอเหล่านั้นเป็นการบ้าน เมื่อคลาสต่อไปมาถึง ลองให้นักเรียนทำกิจกรรมเกี่ยวกับเนื้อหาในวิดีโอดังหล่าวดู ใครทดลองแล้วได้ผลอบ่างไร มาบอกกันด้วยนะครับ
1 ผลวิจัยจาก Jeremy F. Strayer, Ohio State University | Flipped Classroom Conference 2011 | Telegraph.co.uk | Blendedclassroom.blogspot.com | Khan Academy | Education Week | Converge Magazine