อิงวาร์ คัมพราด (Ingvar Kamprad) เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเฟอร์นิเจอร์ IKEA แบรนด์ที่กำลังฮอตฮิตในประเทศไทยและระดับโลกในตอนนี้ ชื่อ IKEA ถูกตั้งขึ้นขณะที่อิงวาร์อายุได้ 17 ปี เขาตัดสินใจเปิดร้านขายของชำในชื่อว่า IKEA ซึ่งเป็นการดึงเอาอักษรตัวแรกของชื่อและนามสกุลเขา มารวมอักษรตัวแรกของชื่อฟาร์มและชื่อหมู่บ้านที่เขาเกิดและเติบโตมา จนเป็นคำว่า IKEA (Ingvar Kamprad Elmtaryd Agunnaryd)
เพราะอะไรที่ทำให้ IKEA มาถึงจุดนี้ได้? เราไปดูกันดีกว่าว่า อิงวาร์ คัมพราด มีนิสัยอย่างไรที่พาเขามาถึงจุดนี้ได้
I-Innovative : "สร้างสรรค์"
เคล็ดลับความสำเร็จข้อแรกของอิงวาร์ก็คือการมุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นเลิศในสิ่งที่ตัวเองทำและสร้างจุดเด่นของตนเองให้แตกต่างกับคู่แข่งในตลาดอย่างชัดเจน กลยุทธ์ที่คู่แข่งในตลาดช่วงนั้นมักใช้ฟาดฟันกันก็คือ การเล่นสงครามราคา ในทางตรงกันข้าม อิงวาร์กลับเลือกที่จะลุยตลาดด้วยกลยุทธ์การนำเสนอสินค้าของเขาผ่านโชว์รูมบนพื้นที่กว่า 6,800 ตารางเมตร ซึ่งนับเป็นห้างเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย เพื่อทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสการเลือกซื้อสินค้ารูปแบบใหม่ ตอนนั้นใครๆก็ขายของผ่าน Mail Order หรือ Catalog การที่ลูกค้า IKEA ได้ทดลองนั่งและได้สัมผัสสินค้าด้วยตนเอง บวกกับราคาที่ไม่แพงมาก จึงช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ IKEA ยังมีไอเดียเฟอร์นิเจอร์ถอดประกอบเอง ซึ่งเป็นการตอกย้ำความต่างระหว่างงานดีไซน์ของ IKEA กับของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ เพราะนอกจากจะทำให้เรื่องการขนส่งเป็นเรื่องง่ายและช่วยป้องกันสินค้าเป็นรอยจากการกระแทกแล้ว การบรรจุเฟอร์นิเจอร์ลงในกล่องแบนราบนั้น ยังทำให้ลูกค้าสามารถซื้อ จ่ายเงิน และหิ้วกลับบ้านได้เอง โดยไม่ต้องมีบริการขนส่งหรือติดตั้งใดๆ ทำให้ IKEA สามารถลดต้นทุนด้านการขนส่งลงไปได้จำนวนมากอีกด้วย
K -Keen : กล้า "เสี่ยง"
อิงวาร์ คัมพราด เป็นคนที่ไม่ลังเล กล้าเสี่ยง ถ้าเขามองเห็นโอกาสตรงหน้า เขาก็จะลงมือทำทันที นับเป็นอีกเคล็ดวิชาความสำเร็จของเขา อย่างที่กล่าวในตอนต้นนั้น IKEA ในช่วงเริ่มเปิดกิจการ เป็นเพียงร้านขายของชำทั่วไป ตั้งแต่ กระเป๋า, นาฬิกา, เครื่องประดับ และของสดต่างๆ จนย่างเข้าปี 1947 อิงวาร์ได้ทดลองนำเฟอร์นิเจอร์ราคาถูกเข้ามาลองขายดู ปรากฎว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้เขาหันหัวเรือมาจับตลาดเฟอร์นิเจอร์นี้แทน โดยตัดสินใจลดปริมาณและความหลากหลายของสินค้าประเภทอื่นลง และหันมาศึกษาเรื่องการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ การประกอบเฟอร์นิเจอร์ และการจัดวางสินค้าประเภทในร้านอย่างจริงจัง
จากการกระทำดังกล่าวช่วยให้เขาสามารถเข้าใจถึงจุดเด่นของสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์อย่างถ่องแท้ มากกว่าเลือกที่จะขายสินค้าหลายๆชนิดแต่ว่าไม่มีข้อแตกต่างใดๆกับคู่แข่ง และเมื่อประกอบกับการเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคแล้ว จึงทำให้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ IKEA สามารถเข้าไปยืนอยู่ในใจได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าใด
E- Econimical : เรียบง่าย "สมถะ"
ถ้าจะเอ่ยถึงการใช้ชีวิตเรียบง่ายของมหาเศรษฐีระดับโลก นอกจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าพ่อแห่งวงการการเงิน ผู้ไม่ฟุ้งเฟ้อไปกับเม็ดเงินที่หามาได้มหาศาล มหาเศรษฐีอีกคนผู้ที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายไม่แพ้กันก็คือ อิงวาร์ คัมพราด
มีหลายตัวอย่างที่บ่งบอกว่าอิงวาร์ใช้ชีวิตอย่างสมถะ มีอยู่ครั้งหนึ่ง อิงวาร์ได้รับเชิญไปงานรับรางวัลนักธุรกิจแห่งปี ซึ่งงานนี้จัดขึ้นที่โรงแรมหรู แต่อิงวาร์ไม่สามารถผ่านเข้าไปในงานได้เพราะยามรักษาความปลอดภัยไม่อนุญาตให้เขาเข้าไปร่วมงาน เพราะว่าเขาเดินทางมาด้วยการนั่งรถประจำทาง นอกจากเหตุการณ์นี้ ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำเอาผู้ร่วมงานรู้สึกสับสนและไปกันต่อไม่ถูก ก็คือ เมื่ออิงวาร์ต้องรับหน้าที่ตัดริบบิ้นเปิดหุ่นรูปปั้นของตนเอง เขากลับเลือกที่จะไม่ ตัด ริบบิ้นแบบที่ทุกคนคาดการณ์ แต่ใช้วิธี แกะ ริบบิ้น แล้วค่อยๆ ม้วนพับริบบิ้นนั้นเก็บขึ้นและส่งให้นายกเทศมนตรีประจำเมืองนำไว้ใช้ในโอกาสหน้า
เรื่องดังกล่าวแสดงถึงความรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆของอิงวาร์ โดยอุปนิสัยมัธยัสถ์นี้ของอิงวาร์มาจากการปลูกฝังของครอบครัวฐานะปานกลางของเขาตั้งแต่สมัยเด็ก
A-Attentive : "ใส่ใจรายละเอียด และ ช่างสังเกต"
อุปนิสัยเด่นอีกประการของเขาก็คือ หัวการค้า นิสัยนี้ของอิงวาร์ฉายแววตั้งแต่เขาอายุไม่ถึง 10 ขวบ เขาสังเกตเห็นว่าทุกบ้านในหมู่บ้านละแวกเดียวกันมักจะใช้ไม้ขีดไฟกันหมด เขาจึงรู้ว่ามีความต้องการในไม้ขีดไฟสูง เขาเลยค่อยๆเสาะหาแหล่งที่มาไม้ขีดไฟ จนรู้ว่ากรุงสต็อกโฮมมีการขายส่งไม้ขีดไฟแบบล๊อตใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า 'Bulk Pack' ในราคาถูกกว่าราคาปกติ เขาจึงไปซื้อของจากที่นั่น หลังจากนั้นก็นำมาแบ่งขายในราคาปลีก และทำเงินจากส่วนต่าง ผลก็คือเขาสามารถสร้างกำไรได้อย่างงดงาม
เขานำเงินและประสบการณ์นี้ไปต่อยอด ซื้อของอย่างอื่นมาขายเพิ่มได้มากขึ้น ทั้งเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ การ์ดอวยพร อุปกรณ์ประดับต้นคริสต์มาส ดินสอ ปากกาลูกลื่น และอื่นๆอีกมากมาย
คิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับกับแนวคิดที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังของมหาเศรษฐีคนนี้ อ่านจบแล้วอย่าลืมเอากลับไปคิดว่าสิ่งใดที่เรายังขาดไป หรือ ต้องพัฒนาเพิ่มเติม หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ