“คุณไม่มีทางจัดสรรเวลาได้หรอก เวลาเดินต่อไม่รอใคร
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ คุณทำได้แค่เพียงเรื่องเดียว นั่นคือจัดการตัวเองซะ”
— Rory Vaden ผู้เขียนหนังสือขายดี 'Take a stair' กล่าวไว้ใน TED Talk | ‘How to Multiply Your Time’
ทุกๆ คนคงต้องเคยบ่นว่า “ไม่มีเวลา” กันอยู่บ่อยๆ ใช่ไหมล่ะครับ
ในยุคดิจิทัลแบบนี้ เราทุกคนต่างก็มีเครื่องมือดูดเวลาตัวดีอย่าง ‘โซเชียลมีเดีย’ ที่ฆ่าเวลาไปจากเรายิ่งกว่าฆาตกรต่อเนื่องเสียอีก ถ้ายังปล่อยให้เวลาวิ่งไล่จี้คุณอยู่แบบนี้ แม้คุณจะวิ่งหนีสี่คูณร้อยจนหอบตัวโยน แต่เวลาก็ยังตามติดมาหายใจรดต้นคอคุณให้หลอนอยู่ทุกวี่วัน ต้องมานั่งเครียดบ่อยๆ เมื่อทำอะไรๆ ก็ไม่เสร็จทันเวลา หรือต้องเร่งรีบทำจนเสร็จลงอย่างเฉียดฉิวอยู่ตลอดเวลา ในระยะยาวนั่นอาจทำให้คุณตายในหน้าที่ก็ได้นะครับ อย่าทำเป็นเล่นไป ไม่ดีต่อทั้งสุขภาพร่างกาย และสภาพจิตใจของคุณแน่ๆ แต่อย่าเพิ่งท้อชิงหนีลาตายกันไปซะก่อน
ใจเย็นๆ นะ เรา SkillLane มี 7 ขั้นตอนวางแผนชีวิต ให้คุณจัดสรรเวลาได้โดยไม่ถูกเวลาจัดการมาฝาก แล้วคุณอาจจะเป็นคนมีเวลา แยกงานออกจากชีวิตส่วนตัว มีเวลาไปพักผ่อนหย่อนใจ หรือทำสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ให้สำเร็จสมดังใจได้เสียที
1. มานั่งลงล้อมวงวางแผนชีวิตกันก่อน
เขียนแผนการในใจออกมา จดรายชื่อการงาน และกิจวัตรกิจกรรมในแต่ละวัน รวมทั้งสิ่งที่ตั้งใจจะทำเพื่อฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อจุดหมายในฝัน จดใส่กระดาษ หรือพิมพ์ลงในอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่คุณสะดวกจะหยิบมาดูได้บ่อยๆ เพื่อเป็นเข็มทิศให้คุณหยุดคิดในแต่ละวัน
ถ้าคุณไม่วางแผนชีวิตเพื่อตัวเองเลย แล้วปล่อยตัวเองไหลไปตามกระแสเวลาของคนอื่น เอาแต่ทำตามแผนการ หรือความต้องการของคนอื่น ก็ไม่แปลกเลยที่คุณจะไม่มีเวลา แล้วคุณคิดจริงๆ หรือว่า พวกเขาเหล่านั้นจะวางแผนชีวิตไว้เผื่ออนาคตให้คุณ เชื่อเถอะว่าไม่มีใครมาสนใจหรอก ถ้าคุณไม่เรียกร้องเอาเวลาคืนมาให้ตัวเอง ก็คงไม่มีใครช่วยคุณได้
อย่าปล่อยตัวเองไหลตามน้ำ อย่ารอให้ทุกอย่างเกิดขึ้นก่อน แล้วถึงค่อยตอบสนอง คุณควรได้สิทธิกำหนดชะตาชีวิต และการงานของตัวเองได้บ้าง อย่าเอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานไปจนกว่าจะเสร็จ โอเวอร์โหลดงานจนต้องทำงานล่วงเวลา การทำงานแบบนี้ดูเผินๆ เหมือนคนทุ่มเท แต่แท้จริงคุณบริหารเวลาไม่เป็นต่างหาก จึงต้องยอมเอาเวลาอนาคตมาแลกเพื่อให้ทุกอย่างยังทันเวลาอยู่ แต่คุณอาจลืมนับไปว่ากี่ครั้งกี่คราที่คุณต้องรูดจ่ายเวลาล่วงหน้าเพื่อต่อชีวิต จนไม่ทันรู้ตัวว่าจะเกินกว่าที่จ่ายคืนไหวหรือเปล่า บัตรเครดิตแห่งกาลเวลาอาจเป็นอนันต์ แต่ชีวิตของคุณมีวันหมดอายุแน่ๆ ครับ เผลอๆ จะล้มละลายทางเวลาเอาได้นะครับ
ลองมาเปลี่ยน เพื่อปฏิวัติระบบการทำงานของตัวคุณเอง เริ่มจากวางแผนตั้งเป้าหมายการทำงานที่เป็นไปได้จริง เมื่อเริ่มรู้สิ่งที่คุณต้องทำ รู้เวลาที่มีจำกัด แล้วคุณก็จะเริ่มต่อรองเวลากับคนอื่นๆ ได้ เพื่อจะได้จัดการบริหารเวลาหาวิธีทำให้แผนการนั้นสำเร็จ ลงเอยแฮปปี้เอนดิ้งต่อทุกฝ่าย
อย่าบอกว่าไม่มีเวลาวางแผนนะครับ ถ้าไม่เริ่มทำก็อย่าไปบ่นให้ใครฟังเลย ทุกคนจะมองบนใส่คุณอย่างเย็นชาแน่ๆ เพราะรู้ว่านั่นเป็นเพียงข้ออ้างติดปากของคุณเท่านั้นเอง
2. ตั้งเข็มทิศให้ตัวเองด้วย The Eisenhower Box
ยิ่งเป็นเรื่องง่ายที่จะทำ ก็ง่ายที่คุณจะหลบเลี่ยง หรือล้มเลิกได้ง่ายๆ ด้วยเช่นกัน
หากคุณยังสับสนในชีวิต เมื่อมีงานคั่งค้างสะสมอยู่มากเกินไปจนจัดสรรไม่ถูก คุณควรใช้หลักคิดง่ายๆ ตามตารางต่อไปนี้
ซึ่งเป็นเทคนิคการจัดการเวลาของ Dwight D. Eisenhower ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
ท่านได้แรงบันดาลใจมาจากคำพูดของ Dr J. Roscoe Miller อธิการบดีมหาวิทยาลัย Northwestern University
ที่เคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตของคนเราเผชิญปัญหาแค่ 2 แบบเท่านั้น นั่นคือ ปัญหาที่สำคัญ กับปัญหาที่เร่งด่วน”
ลองจัดลำดับความสำคัญของงานอย่างเห็นภาพ แล้วตั้งมั่นเลือกทำสิ่งสำคัญ และเร่งด่วนก่อนเสมอในแต่ละวันให้ได้นะครับ
ถ้าไม่ฝึกลงมือทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คุณก็จะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ จนสะสางยังไงก็ไม่หมด
ถ้าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ก็อย่าเสียเวลาอันมีค่าไปกับเรื่องที่ยังไม่มีกำหนดการณ์ชัดเจน ตัดใจเก็บฝันที่ยังทำไม่ได้จริง หรือยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันพับเก็บไปก่อนดีกว่าครับ
3. ทำน้อยได้มาก
ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียนอย่าง ‘วิลเฟรโด พาเรโต’ ผู้อธิบายกฎ 80/20 หรือกฎของพาร์กินสัน (Parkinson’s Law) ให้ทำใจไว้เลยครับว่างานกว่า 80% ในแต่ละวันของคุณจะเป็นงานจิปาถะที่อาจไม่มีคุณค่าต่อคุณ แต่คุณจะทิ้งไม่ทำเลยก็ไม่ได้ ส่วนงานอีก 20% เป็นงานที่มีคุณค่า และมูลค่าสูงกว่า ถึงยังไงงานส่วนน้อยก็มักจะมีค่ามาก งานส่วนมากมักจะมีค่าน้อยเสมอ (สัดส่วนอาจจะไม่เป๊ะตามนี้ก็ได้นะครับ) ดังนั้น คุณจึงต้องเลือกทำงานที่สำคัญให้เสร็จก่อนเสมอจะดีกว่า เพื่อจะได้มีผลงานทรงคุณค่าไว้ปกป้องเรา ในวันที่ต้องถูกประเมินผลสิ้นปียังไงล่ะครับ
4. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคนิค Pomodoro
เป็นกันไหมครับที่นั่งทำงานทั้งวัน ทำตัวดูเหมือนยุ่งมาก แต่กลับไม่ได้งานอย่างที่หวัง นั่นแปลว่าคุณกำลังทำงานอย่างไม่มีระบบ และขาดโฟกัส ประสิทธิภาพในการทำงานจึงลดลง
เทคนิค Pomodoro จะช่วยให้คุณลงลึกในเนื้องาน และกระชับเวลาการทำงานได้ในเวลาเดียวกัน ลองฝึกทำงานแบบหั่นเวลาออกเป็นช่วงๆ ทุกๆ 25 นาที เพื่อดำดิ่งทำงานอย่างจดจ่อ จากนั้นก็พักสายตาสัก 5 นาที เบรคไม่นานเกินกว่าที่สมองของเราจะลืม พร้อมกลับมาทำงานได้ต่อติดจากเดิมทันที
เมื่อทำงาน และพักเบรควนครบ 4 รอบ ก็ให้พักยาวขึ้นเป็น 30-45 นาที ซึ่งแล้วแต่ประเภทของงาน อาจไม่ต้องเป๊ะเวลาตามกฎนี้เสมอไปก็ได้นะครับ ลองยืดหยุ่นกว่านี้ได้ เพราะหัวใจของมันเพียงเพื่อให้คุณแบ่งเวลาการทำงานออกเป็นสัดส่วนที่เท่าๆ กัน คุณอาจจะต้องทำสถิติ เพื่อกำหนดระยะเวลาการทำงาน และเวลาพักที่จะเหมาะกับคุณเอง แล้วสมองของคุณจะตอบสนองต่องานได้ดีขึ้นนั่นเอง
5. ทำงานให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ จนกลายเป็นกิจวัตรประจำตัว
ทุกๆ วันคุณควรมีเรื่องที่ต้องทำสะสมวันละนิด ในเมื่อเวลาวันๆ หนึ่งมีจำกัด ไหนจะเรื่องส่วนตัว และการงาน ถ้าไม่จัดตารางชีวิตให้ดี ชีวิตคุณจะไร้สมดุล แล้วทุกข์ก็จะตามมา
หากคุณทำงานตามเวลาได้ดี ในระยะยาวกิจกรรมเหล่านั้นจะกลายเป็นกิจวัตรที่ร่างกาย สมอง และใจของคุณจะจำ แล้วฝังโปรแกรมอัตโนมัติให้คุณลุกมาทำสิ่งเหล่านั้นได้เองอย่างสม่ำเสมอ และรวดเร็วขึ้นตามความชำนาญ
ทุกกิจวัตรประจำวันที่มีความแน่นอน ควรกำหนดตายตัวไว้เลยยิ่งดี เช่น คุณอาจจะออกกำลังกายสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทุกเช้าวันอังคาร กับวันพฤหัสฯ เวลาตีห้าครึ่ง วันอื่นๆ ในเวลาเดียวกันอาจจะหัดทำอาหารเพื่อสุขภาพ หรืออ่านหนังสือก่อนจะออกไปทำงานตอนแปดโมงเช้า ทุกวันเวลาสามทุ่มถึงสี่ทุ่มคุณจะแบ่งเวลามาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยความสนุก เช่น ฟัง Podcast ชม TED Talk เทคคอร์สกับ SkillLane หรือหัดเล่นดนตรี โดยสลับกับการรับชมความบันเทิงอย่างละคร และภาพยนตร์เพื่อความผ่อนคลายด้วยได้
อย่าใช้เวลายืดเยื้อไม่รู้จบเพื่อตอบอีเมล รับโทรศัพท์ หรือการตอบข้อความออนไลน์ตามช่องทางต่างๆ เพราะจะทำให้วันๆ หนึ่งคุณอาจจะไม่ค่อยได้งาน จึงควรจัดช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อตอบรับ แล้วปรับให้เหมาะสมต่อการติดต่อประสานงานในสายงานของคุณ นอกเสียจากว่าคุณจะเป็นฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ หรือบริการหลังการขายที่ต้องติดต่อประสานงานกับผู้คนอยู่ตลอดเวลา
พอคุณมีวินัยในตัวเอง วินัยต่อการงานก็จะตามมา ทุกเรื่องจะสำเร็จลุล่วงลงได้ตามที่คุณคาดหวังโดยไม่มาอัดแน่นให้ใช้แรงกายแรงใจจนหนักหนาเกินไป
6. วางแผนงานวันรุ่งขึ้นก่อนนอนคืนนี้ด้วย The Ivy Lee Method
บิดาแห่งการประชาสัมพันธ์บอกแก่เราไว้ว่า คอยอัพเดทวางแผนจัดตารางงาน หรือนัดหมายใหม่ๆ ล่วงหน้าทุกคืน เตรียมพร้อมทุกอย่างไว้ก่อนไปเผชิญในวันใหม่
หากสามารถจัดคิวงานให้ตัวเองไว้ก่อนทั้งสัปดาห์ หรือวางแผนงานตลอดเดือนต่อไปได้เลยก็ยิ่งดี เพื่อที่คุณจะมีเวลาเตรียมตัว
7. หยุดคิดสักนิดก่อนจะตกปากรับงานเพิ่ม
บ่อยครั้งคุณอาจจะพบเหตุการณ์งานแทรก นอกเหนือจากภาระงานที่คุณมี แต่เมื่อคุณลำดับความสำคัญ และประเมินเวลาที่จะทำให้เสร็จทันไว้เรียบร้อยแล้ว คุณจะรู้ตัวว่าคุณมีเวลาให้งานแทรกงานนั้นหรือไม่
หากว่าเกินกว่าคุณจะรับไหว ก็ต้องหัดปฏิเสธให้เป็น ถ้าจำเป็นจริงๆ คุณถูกกดดันอย่างหนักให้ทำ ก่อนจะรับงานมาก็ควรพูดคุยทำข้อตกลงเวลาจบงานกันใหม่ ต้องต่อรองกับหัวหน้าว่า ถ้าให้ทำงานนี้แทรก อีกงานก็เป็นอันต้องรอไปก่อน ไม่สามารถทำทั้งสองงานให้เสร็จภายในเวลาเดียวกันได้ หรือควรตัดสินใจปฏิเสธงานแทรกนั้นไปถ้าปฏิเสธได้ หรือยกงานที่ได้รับมอบหมายมาก่อนหน้าใหคนอื่นทำแทน คุณต้องหาทางออกให้ตัวเอง เลือกทำงานใดงานหนึ่งอย่างมีเหตุผลที่ไร้ข้อกังขา
8. ฝึกตนเป็นนกที่พร้อมบินออกหาหนอนตัวอ้วนพีกลับรังก่อนใคร
คนตื่นเช้ายังคงได้เปรียบกว่าเสมอ ถ้าคุณตื่นเช้าได้ ก็จะมีเวลาเพิ่มขึ้นอีกเยอะ ดีต่อนาฬิกาชีวิต และสุขภาพของคุณในระยะยาวด้วย
จะเป็นคนนอนดึก หรือนอนเช้าก็ไม่ผิดหรอกครับ แต่ถ้าลองไปดูการทำงานของซีอีโอ หรือบุคคลสำคัญทุกวงการดูเอาเองก็ได้ว่าส่วนใหญ่เขาตื่นเช้า หรือตื่นสายกัน คุณก็จะรู้คำตอบเองครับ
อยากจะประสบความสำเร็จก็ต้องเริ่มต้นตั้งเป้าหมายได้แล้ว และไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับใครหรอกครับ แข่งกับตัวเราเองก็พอ